หน้าแรก เศรษฐกิจ อุตฯ อาหารชี้ 5 เดือนหลังยังโตแกร่ง

อุตฯ อาหารชี้ 5 เดือนหลังยังโตแกร่ง

409
แชร์ข่าวนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ว่าได้พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวลงในปีก่อน โดยการผลิตที่วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ต่างๆ จำพวกสับปะรด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns หลังจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ธุรกิจบริการร้านอาหารต่างๆ มีการฟื้นตัว โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 5 เดือนหลังยังจะโตแกร่งสวนทางโควิด-19 โดยคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563 สำหรับปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง มองว่ามาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการกลับมาเปิดเมือง

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง อาทิ การแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่สถานประกอบการ จะกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งมอบสินค้า การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้หลายประเทศอาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด จะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าชะลอตัวลง ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งอย่างไรก็ตาม แนะผู้ประกอบการปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ให้เหมาะสมกับขนาดกิจการเพื่อรับมือการแพร่ระบาดในโรงงาน พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้