หน้าแรก การเมือง “สุทิน” ยุบสภาคงไม่ง่าย ชี้ “ตู่-ป้อม” แยกกันเดินไม่มีผล

“สุทิน” ยุบสภาคงไม่ง่าย ชี้ “ตู่-ป้อม” แยกกันเดินไม่มีผล

199
แชร์ข่าวนี้

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงกระแสข่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยแยกกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า เรื่องดังกล่าว ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด มีแต่พฤติกรรมทั่วไป

แต่การที่จะไปหรือไม่ไป ก็จะสะท้อนถึงเอกภาพ ซึ่งความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 คน ทำให้การเมืองผันผวนได้ ถ้าแยกกันเป้าหมายคืออะไร ถ้าแยกกันเดินอาจต้องช่วงชิง หักเหลี่ยมในสภา แต่ในส่วนของฝ่ายค้าน ถือว่าไม่มีผล แต่อยากให้ไปด้วยกันทั้ง 2 คน เพื่อจะได้แบ่งขั้วกันให้ชัดเจน

ประธานวิปฝ่ายค้าน เชื่อว่า การยุบสภาฯ คงเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้เพราะการจะยุบ จะต้องได้เปรียบ จะต้องชนะ หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่เชื่อว่าที่ไม่ยุบ เพราะงบประมาณปี 2566 ยังเป็นข้าวใหม่ปลามัน จึงยังไม่น่าจะมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้น

นอกจากนี้นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังได้กล่าวว่า ในการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันนี้ จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายและกระทู้ถามที่จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์นี้ ส่วนวันศุกร์ เป็นการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการฯ

ซึ่งในเรื่องการพิจารณากฎหมายที่ต้องพิจารณาคือกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่นและเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง มีคนเห็นต่างเป็นจำนวนมาก จึงอาจต้องใช้เวลา และพิจารณาร่างกฎหมายกัญชา – กัญชง ไม่ทันในสัปดาห์นี้ หรือหากเสนอให้พิจารณาทัน ก็คงจะไม่สามารถลงมติได้ในวันพรุ่งนี้

ส่วนกรณีที่ศาลปกครองรับคำฟ้องกรณีขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด นายสุทิน มองว่า การที่ยื่นฟ้องศาล เพราะหวังว่า ต้องการให้ออกกฎหมายให้ครอบคลุมที่สุด แต่ไม่รู้ว่า กฎหมาย กัญชา-กัญชง จะผ่านสภาฯ เมื่อใด ในระหว่างนี้ หากไม่มีกฎหมายอะไรมาควบคุมได้ดีพอ จึงเห็นว่า ควรให้ศาลยกเลิกประกาศดังกล่าว เพื่อให้กัญชากลับมาเป็นยาเสพติด จะดีกว่า อยากให้เซฟในช่วงที่เป็นสุญญากาศ

ขณะเดียวกัน นายสุทิน ยังกล่าวมติของที่ประชุมวุฒิสภา ตั้งกรรมาธิการสามัญ พิจารณาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับการเลือกตั้งว่า การที่เสนอให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งเพื่อไม่ต้องการให้เสียเวลา แต่การที่วุฒิสภา ตั้งกรรมาธิการฯ ขึ้นมาศึกษาก็ต้องรับผิดชอบว่า การเลือกแนวทางดังกล่าวจะทันกับการเลือกตั้งที่จะต้องทำประชามติหรือไม่ หากตั้งโดยไม่รู้เวลา ก็จะเข้าข่ายว่า “ยื้อ”

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้