หน้าแรก สังคม เจอตัวแล้ว แท็กซี่ไล่ลูก-เมีย “เขาทราย” ลงจากรถกลางทาง อ้าง มีธุระต้องไปทำ

เจอตัวแล้ว แท็กซี่ไล่ลูก-เมีย “เขาทราย” ลงจากรถกลางทาง อ้าง มีธุระต้องไปทำ

169
แชร์ข่าวนี้

เจอตัวแล้ว แท็กซี่ไล่ลูก-เมีย “เขาทราย” ลงกลางทาง อ้าง ไปส่งไม่ได้เพราะมีธุระ ขนส่งปรับ 1 พัน

ตามที่ นายสุระ แสนคำ หรือ เขาทราย แกแล็คซี่ โพสต์ลงสื่อออนไลน์ กรณีที่ภรรยาและลูกได้เรียกใช้บริการรถแท็กซี่ คันหมายเลขทะเบียน 7913 กทม. จากโรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อให้ไปส่งที่พักด้านหลังโพไซดอน ซอยอินทามระ 47 และระหว่างทางผู้ขับรถให้ภรรยาและลูกลงจากรถก่อนถึงที่หมาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 19.30 น. 

“แท็กซี่รับภรรยาและลูกสาวของผม จากรพ.พญาไท 2 เพื่อกลับมาส่งที่พักที่ ซอยด้านหลังโพไซดอน ซอยอินทามระ 47 โดยที่ เวรแปลรพเป็นคนไปเรียกรถแท็กซี่คนนี้ให้

พอภรรยาและลูกผมขึ้น รถออกไปแล้ว 300-400 เมตร ก็บอกว่าถ้าไปนอกเหนือซอยรัชดา 17 ก็จะไม่ไปส่ง บอกให้ลงไปเลย ภรรยาผมบอกว่า งั้นขอไปลงที่ซอยรัชดา 17 หน้าโพไซดอนเลย เพราะเด็กๆ มาด้วย แล้วภรรยาผมก็ถามว่า รับโอนเงินไหม เขาบอกว่าไม่รับโอนเงินทั้งนั้นแล้วให้ลงไปเลย ภรรยาผมก็บอกว่า มีเด็กมาด้วย 2 คนให้ลงตรงนี้เลยเหรอ มันก็บอกว่า มันมีลูก3-4 คนเหมือนกัน ภรรยาผมก็ลงจากรถแล้วรีบจับมือลูกๆ ไว้ เพราะเด็กเล็กกลัวจะเดินลงถนน

ผมอยากให้เขามาอธิบายและขอโทษนะ เพราะผมถามลูกๆ เขาก็เล่าให้ฟังว่า คนขับแท็กซี่บอกให้เขาลงจากรถไปหลายครั้ง อ้างว่าเขาบอกว่ามีงาน ลูกๆ บอกว่า ทำไมเขาไล่เราลงจากรถ เขาใจร้ายจังยิ่งเขามีลูกของตัวเองก็ต้องยิ่งรู้นะว่าผมรู้สึกยังไงครับ ถ้าไม่รับผู้โดยสารก็ต้องปฏิเสธตั้งแต่ตอนแรกครับ คนขับก็น่าจะทราบดีว่า ใบอนุญาตขับรถก็มี การไล่ผู้โดยสารลงกลางทางมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก”

ล่าสุด (15 มี.ค.66) กรมการขนส่งทางบก โดยกองตรวจการขนส่งทางบก ได้ติดตามตัวผู้ขับรถคันดังกล่าว คือ นายสมชาติ มาสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยนายสมชาติ ได้ให้การว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผู้เรียกรถ โดยได้แจ้งกับตนว่า ให้ไปส่งผู้โดยสารที่ซอยอินทามระ 17 แต่จริงๆ แล้วผู้โดยสารต้องการให้ไปส่งที่ซอยอินทามระ 47 ซึ่งตนมีธุระส่วนตัว จึงไม่สามารถไปส่งได้ แต่ทั้งนี้ ขอยอมรับว่าไม่ได้ไปส่งผู้โดยสารถึงที่หมายจริง

กรมการขนส่งทางบก พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายสมชาติ เป็นความผิดฐานไม่ส่งผู้โดยสาร ณ สถานที่ตามที่ตกลงกันไว้ ตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 เบญจ ประกอบมาตรา 66/2 จึงได้ลงโทษเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด จำนวนเงิน 1,000 บาท พร้อมสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถเป็นเวลา 30 วัน และให้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับกฎระเบียบและการบริการที่ดีเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และบันทึกประวัติการกระทำความผิดไว้ในระบบกรมการขนส่งทางบก หากมีการกระทำผิดซ้ำจะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้