หน้าแรก การเมือง 7 ผู้นำอาเซียนตอบโต้ ทรัมป์ ไม่เข้าร่วมประชุมกับสหรัฐฯ-โฆษกบัวแก้วชี้เป็น “ท่าทีร่วมกัน”

7 ผู้นำอาเซียนตอบโต้ ทรัมป์ ไม่เข้าร่วมประชุมกับสหรัฐฯ-โฆษกบัวแก้วชี้เป็น “ท่าทีร่วมกัน”

582
แชร์ข่าวนี้

“โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ” แจงกรณี 7 ผู้นำอาเซียนไม่เข้าร่วมการประชุมเวทีสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ชี้เป็นท่าทีร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐอเมริกา ในวันนี้ (4 พ.ย.) ลดระดับเป็นการประชุมระดับทรอยก้า เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งสหรัฐเป็นผู้แทนร่วมประชุม ทำให้ผู้นำอาเซียนมีท่าทีตอบโต้สหรัฐด้วยการไม่เข้าร่วมประชุม 7 ประเทศ และส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าประชุมแทน ซึ่งมีรายงานว่า การตอบโต้ครั้งนี้เป็นข้อตกลงร่วมกันของผู้นำอาเซียน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ยังคงนั่งหัวโต๊ะการประชุม และมี นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามที่จะรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนปีหน้า และนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ ในช่วงแรก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณที่สหรัฐฯ สนับสนุนการเสริมสร้างสันติภาพและความร่วมมือด้านการลงทุนที่ให้ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมอินโด-แปซิฟิกที่จะเดินหน้าร่วมมือกันต่อไป นอกจากนี้ยังขอบคุณที่สหรัฐอเมริกาจะจัดฝึกร่วมทางทะเลกับอาเซียนในเดือนกันยายน

ด้าน นายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน อ่านจดหมายจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ฝากมาแสดงความยินดีกับความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้ และพร้อมจะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พร้อมเชิญผู้นำอาเซียนทุกประเทศร่วมการประชุมนัดพิเศษในไตรมาสแรกของปีหน้า ส่วนเรื่องประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการคุกคามข่มขู่ของจีนที่หยุดยั้งอาเซียน ไม่ให้อาเซียนได้ใช้ผลประโยชน์จากแหล่งทรัพยากร ถือเป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักการให้เกียรติและเป็นธรรม

“สหรัฐฯ สนับสนุนอาเซียนปกป้องอธิปไตย โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังส่งเสริมเรื่องความเป็นหุ้นส่วนด้านเมืองอัจฉริยะ เพื่อใช้เทคโนโลยีพัฒนาเรื่องน้ำ ระบบการขนส่ง และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และจะมีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือนำร่องกับอาเซียนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” หนังสือดังกล่าวระบุ

ในเวลาต่อมา น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีผู้นำอาเซียนเข้าร่วมเพียง 3 ประเทศ ประกอบด้วย ผู้นำไทย ในฐานะประธานอาเซียนปัจจุบัน ผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐฯ และผู้นำเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนปีต่อไป เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ขณะที่อีก 7 ประเทศส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมว่า ในประวัติศาสตร์ 52 ปีของอาเซียน มีสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ต้องปรับรูปแบบการประชุมให้เหมาะสม

“การใช้รูปแบบการประชุมลักษณะ “ทรอยก้า” จึงถือเป็นเรื่องปกติ เป็นแนวทางที่อาเซียนทุกประเทศเห็นชอบและมีท่าทีร่วมกัน เป็นรูปแบบที่อาเซียนใช้ในโอกาสต่างๆ ในอดีตมาแล้ว เช่นกับสหภาพยุโรป (อียู) โดยคำนึงถึงหลักการทางการทูตของเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมก็เป็นไปโดยราบรื่น ผ่านไปได้ด้วยดี” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว


แชร์ข่าวนี้