หน้าแรก เศรษฐกิจ ข้าราชการไทย จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายสู่ความยั่งยืน

ข้าราชการไทย จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายสู่ความยั่งยืน

413
แชร์ข่าวนี้

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. เมื่อไตรมาสสามของปีกำลังหมดลง หลายท่านเริ่มคุ้นชินกับภาวะปกติใหม่ หลายกิจกรรมกลับมาเดินหน้า หลายภาคส่วนต้องกัดฟันเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจที่เคยออกแบบไว้รองรับลูกค้าจำนวนมากจากต่างประเทศต้องเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะคล้องกับลูกค้าชาวไทย เชฟโรงแรมชั้นนำริมหาดอันดามันหันมาเสิร์ฟหมูกระทะ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมีพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเช็กอินอัปรูปลงโซเชียลมีเดีย การปรับตัวที่เกิดขึ้นเพียงประคับประคองได้ชั่วคราว และยังอาศัยแรงส่งของภาครัฐทั้งจากการผ่อนปรนกฎเกณฑ์กติกาและการสนับสนุนทางการเงิน ในวันนี้จึงขอเชิญทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึง บทบาทภาครัฐในการฝ่าวิกฤติ

ครึ่งปีก่อน เมื่อประเทศประกาศล็อกดาวน์ ภาครัฐดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเยียวยาตรงให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับที่สำรองงบประมาณไว้เพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้รองรับวิถีปกติใหม่ ในวันนี้ถึงเวลาที่แผนงานชุดหลังจะเป็นเส้นทางสายหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ประชาชน และภาครัฐ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง การทำงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน ภาครัฐสามารถปรับตัวปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานแบบมุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์ มากกว่าสนใจอยู่ภายในกรอบความรับผิดชอบของตนเท่านั้น การปรับทิศทางการดำเนินการของภาครัฐนับว่าทันกาล เพราะการแก้ปัญหาในปัจจุบันไม่อาจแยกมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ออกจากกันได้อีกต่อไป โดยขอยกตัวอย่างการทำงานอย่างมีส่วนร่วมเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ ดังนี้

ตัวอย่างแรก คือ การทำงานภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาครัฐเปิดโอกาสให้มีการระดมสมองกลั่นกรองข้อเสนอที่หลากหลาย โดยหน่วยงานเจ้าภาพหารือโดยตรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ ประชาชนและธุรกิจในท้องถิ่น ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เลขานุการ และผู้แทนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน กกร. ให้คำปรึกษาทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ มาตรการที่จะนำไปใช้สามารถดำเนินการได้ทันที ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ และมีความเป็นไปได้ทั้งในด้านงบประมาณและกระบวนการใช้งานจริง พัฒนาการสำคัญนี้ทำให้การดำเนินนโยบายยังคงผลักดันได้รวดเร็ว ขณะที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวควบคู่ไปด้วย

อีกตัวอย่างเล็กๆ คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ก.พ. ได้จัดโครงการพัฒนาผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย รุ่นที่ 25 ประจำปีงบประมาณ 2563 ให้ ข้าราชการรุ่นใหม่จากหลายสิบหน่วยงานร่วมกันเข้าถึงท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจสภาพข้อเท็จจริง ผ่านการร่วมกันเรียนรู้และระดมสมองอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลาเกือบสองเดือน โดยได้ลงพื้นที่จังหวัดยโสธรและอำนาจเจริญเพื่อเรียนรู้การปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ ระเบิดจากข้างใน อย่างเป็นรูปธรรมดังเช่นในพื้นที่หมู่บ้านบ้านโสกขุมปูน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ที่ชุมชนมีพัฒนาการอย่างเข้มแข็งตลอดระยะเวลากว่าสี่สิบปี เริ่มต้นจากการก่อตั้งร้านค้าชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นในราคาที่เป็นธรรม ต่อมา เมื่อชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงผลร้ายด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก จึงเกิดกระบวนการระดมสมองเพื่อหาทางออก โดยก่อตั้งชมรมหมอยาพื้นบ้าน เพื่อปลูกและใช้สมุนไพรในครัวเรือน ก่อนที่จะตกผลึกว่าแท้จริงแล้ว การรักษายังไม่สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหา จึงเริ่มลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในการเพาะปลูกในปี 2532 ซึ่งความพยายามได้รับการตอบรับอย่างดีในระดับโลก

คุณมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ชาวนาญี่ปุ่นเจ้าของทฤษฎีเกษตรกรรมธรรมชาติ ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนในปี 2533 ทำให้นักเกษตรกรรมอินทรีย์ทั่วโลกหมุนเวียนมาดูงาน เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และก่อให้เกิดการเข้าถึงวิถีแห่งอินทรีย์อย่างแท้จริงตราบจนทุกวันนี้ พ่อมั่น สามสี ผู้นำชุมชนเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายในการทานอาหารพื้นบ้านเลี้ยงส่งว่า ตามที่ข้าราชการกลุ่มนี้ได้ยอวาทีไว้นั้น จะเป็นโอกาสให้นำคำชื่นชมนี้กลับมาสำรวจดูว่าได้ดำเนินการพัฒนา และยังมีส่วนขาดเหลือให้ปรับปรุงสมกับที่ได้รับการสรรเสริญหรือไม่

กลไกการเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาของชุมชนผ่านการระเบิดจากข้างใน มีลักษณะพิเศษ คือ มีพลวัตไม่หยุดนิ่ง และไม่สามารถนั่งรอเพื่อชื่นชมความสำเร็จในอดีต แต่ต้องดิ้นรน ต่อสู้ เพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับวิถีการทำงานของข้าราชการซึ่งกำลังเป็นผู้สร้างแนวร่วมสำคัญ เปรียบได้กับจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะประกอบภาพความสำเร็จของการร่วมมือระหว่างชุมชนและธุรกิจ ให้เศรษฐกิจและสังคมพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะภายใต้ภาวะยากลำบากที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่กลับมาเป็นปกติ

*** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ***

cr. ไทยรัฐ


แชร์ข่าวนี้