หน้าแรก เศรษฐกิจ ทำสลากคละเลข แก้ปัญหา “หวยแพง” คาดได้ข้อสรุปเดือนตุลาคม

ทำสลากคละเลข แก้ปัญหา “หวยแพง” คาดได้ข้อสรุปเดือนตุลาคม

412
แชร์ข่าวนี้

บอร์ดสำนักงานสลากฯปิ๊งไอเดียปราบ “หวยแพง” ให้สูญพันธุ์ รื้อระบบพิมพ์สลากใหม่เป็นรูปแบบเดียว เริ่มงวดที่ 16 ธ.ค. หวังปิดตำนานสลากรวมชุดแก้ปัญหาหวยขายเกินราคา ชี้ต่อไปจะไม่เห็นคนถูกหวยก้อนโตถึง 90 ล้านบาท พร้อมเปิดให้ผู้ขายรายใหม่มาลงทะเบียนซื้อจองสลากฯ ให้ ผวจ.และตำรวจในจังหวัดช่วยคัดกรองผู้ค้าตัวจริงตามข้อกำหนดของสำนักงานสลากฯ

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังคงมีความพยายามหาทางปราบ “หวยที่ขายเกินราคา” ให้สูญพันธุ์ แม้จะรู้ว่ามันยาก ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า ที่ประชุมสลากฯมีมติแก้ปัญหาสลากราคาแพงแบบเบ็ดเสร็จ โดยปรับหลักเกณฑ์

การพิมพ์ใหม่และการจำหน่ายสลากให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด จากเดิมพิมพ์แบบเรียงเลข 33 ล้านใบ และแบบคละเลข 67 ล้านใบ เปลี่ยนไปพิมพ์แบบคละเลขทั้งหมด 100 ล้านใบ เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาสลากราคาแพง เกิดจากมีการขายช่วงสลากแล้วนำมารวมชุดใหญ่ โดยเฉพาะสลากจากกลุ่มเรียงเลข 33 ล้านใบ

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า รูปแบบการจำหน่ายอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบใด ระหว่างรูปแบบสลาก 2-2-1 คือ การพิมพ์สลากชุด 2 ที่มีเลขเหมือนกัน 2 ใบ ทั้งหมด 4 ชุด และสลากใบเดี่ยวคละเลข 1 ชุด หรือสลากรูปแบบ 2-1-1-1 คือ สลากชุดที่มีเลขเหมือนกัน 2 ใบ 2 ชุด และสลากใบเดี่ยวอีก 3 ชุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเดือน ต.ค. และเริ่มใช้ระบบการพิมพ์แบบใหม่ในงวดวันที่ 16 ธ.ค.2563 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบหลักการเพื่อพิจารณาเปิดให้ผู้ค้ารายใหม่เข้ามาลงทะเบียนในระบบซื้อจองสลาก โดยเบื้องต้นจะประสานผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดและตำรวจในท้องถิ่น คัดกรองผู้ค้าตัวจริงให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานสลากฯ เพื่อลดปัญหาการขายช่วงสลาก จะสามารถกรองผู้ขายจริงและนำผู้ค้าที่ทำผิดกฎสำนักงานสลากฯออกไปจากระบบ

“เดิมระบบซื้อจองสลากวันแรก มักจะมีผู้ซื้อสลากไม่เต็มโควตา เพราะสำนักงานสลากฯจำกัดการซื้อสลากได้คนละ 5 เล่มเท่านั้น จึงต้องเปิดจองซื้อสลากวันที่ 2 ซึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้จองซื้อสลากวันแรกเข้ามาซื้อสลากอีกรอบ ทำให้มีสลากในครอบครองถึง 10 เล่ม ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาผู้ค้าสลากถือครองสลากจำนวนมากซึ่งอาจจะเกิดการผูกขาดสลาก ในวันที่ 2 สำนักงานสลากฯจะเปิดให้ผู้ค้ารายใหม่ที่ลงทะเบียนซื้อสลากในส่วนนี้ โดยไม่ให้สิทธิ์รายเดิมซึ่งคาดว่าจะมีผู้ค้าสลากหน้าใหม่มาลงทะเบียนเพิ่มประมาณ 10,000 ราย” โฆษกฯกล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การพิมพ์สลากในระบบดังกล่าว จะทำให้ในอนาคตการรวมชุดสลากมากกว่า 2 ใบขึ้นไปเป็นไปได้น้อยมาก ต่อไปสลากรวมชุดน่าจะสูญหายไปในระบบได้เอง รวมทั้งการซื้อแบบรวมชุดจะลดลงไปเองด้วย ต่อไปหวยชุดที่ออกมาจะรวมชุดได้แค่ 5 ใบเท่านั้นและจะไม่เห็นการรวมชุด 10-30 ใบอีกแล้ว ดังนั้นจะไม่เห็นคนที่ถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 60-90 ล้านบาทอย่างที่ผ่านมา ถือว่าเป็นข้อดีเพราะทำให้คนซื้อสลากมีโอกาสถูกรางวัลมากขึ้น ส่วนการตัดสิทธิ์ข้าราชการออกจากผู้มีสิทธิ์ซื้อจองสลาก ยังไม่ได้มีการพิจารณาในที่ประชุมครั้งนี้ แต่ตามกฎหมายไม่ได้มีการบังคับห้ามอาชีพที่จำหน่ายสลากได้ เพราะสามารถจำหน่ายนอกเวลางานได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 สำนักงานสลากฯ ได้ทดลองนำการกระจายสลากแบบ 2-2-1 มาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อปรับความสมดุลของตลาด เนื่องจากประชาชนมีความต้องการซื้อสลากเลขชุดแบบ 2 จำนวนมาก โดยคาดหวังว่า การกระจายสลากด้วยวิธีการดังกล่าวจะลดการจำหน่ายสลากเกินราคาลงมาได้ เพราะตรงกับความต้องการของผู้ซื้อมากที่สุด คือ ราคาฉบับละ 80 บาท แต่สุดท้ายราคาสลากไม่ได้ปรับลดลงตามที่คาดหวัง และนับวันราคาสลากยิ่งแพงขึ้น จากก่อนหน้านี้นักเสี่ยงโชคสามารถซื้อสลากได้ใบละ 80 บาท แต่ปัจจุบันต้องควักเงินในราคาฉบับละ 100 บาท หากเป็นเลขดัง หรือรวมชุด 2 ใบ ราคาจะปรับขึ้นเป็นฉบับละ 100-110 บาท และหากรวมชุด 5 ใบ จะมีราคาขาย 600 บาท หรือใบละ 120 บาท ทำให้สลากที่รวมชุดได้จำนวนมากเช่น 10 ชุด จะมีราคาขายถึง 1,500 บาท หรือใบละ 150 บาท ดังนั้น คณะกรรมการสำนักงานสลากฯจึงมีมติให้กระจายสลากด้วยการวิธีการคละ ยกเลิกการกระจายสลากแบบ 2-2-1 ซึ่งเท่ากับเป็นการกระจายสลากด้วยวิธีการเก่าที่ทำมานานกว่า 20 ปี

cr. ไทยรัฐ


แชร์ข่าวนี้