หน้าแรก เศรษฐกิจ “ทส.-จีซี” ชูมาตรการกำจัดขยะ นำร่อง “เขาใหญ่” ปลอดมลพิษ

“ทส.-จีซี” ชูมาตรการกำจัดขยะ นำร่อง “เขาใหญ่” ปลอดมลพิษ

481
แชร์ข่าวนี้

“ทส.” จับมือ “จีซี” ผุดโครงการจัดการขยะพลาสติกครบวงจร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ดึงประชาชน นักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกร่วมกำจัดขยะพลาสติก ผ่าน 4 มาตรการ นำร่องที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแห่งแรก ก่อนขยายไปอีก 14 แห่ง ทั้งทางบกและทางน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ลงนามความร่วมมือกับนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี จัดทำโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” และสนับสนุนการจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยนายวราวุธกล่าวว่า มาตรการการจัดการขยะในหลายๆประเทศเป็นแบบภาพรวม มีทั้งกำกับ-บังคับ และสนับสนุน-ส่งเสริม แต่หัวใจสำคัญของวาระแห่งชาติในเรื่องนี้ ของประเทศไทย คือ ความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน และเร่งหาต้นแบบโครงการตัวอย่าง ที่มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ทส.จึงได้ร่วมมือกับจีซีดำเนินโครงการ เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติก กลับมาใช้ประโยชน์ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการแก้ปัญหาขยะ แต่เป็นการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ รวมถึงนักท่องเที่ยว และประชาชน ให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา นำไปสู่ความเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

“จีซี” นำ 4 มาตรการบริหารจัดการ

ขณะที่นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จีซีเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะ จึงได้มาร่วมทำโครงการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบยั่งยืน เพื่อให้มีทางออกที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน (Total Solutions for Everyone) และสร้างระบบ (Platform) เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.Bio-based หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ ที่สลายตัวได้ด้วยการฝังกลบ เพราะจีซีมีผลิตภัณฑ์หลายชนิด ทั้งแก้ว ถ้วย ชามไบโอ รวมทั้งแก้ว จากพลาสติกย่อยสลายได้ เช่น PLA และ PBS หรือแก้วกาแฟอเมซอน และบางจาก เป็นต้น

2.Fossil-based คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ สามารถนำขยะพลาสติกกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ได้ อาทิ การนำขวดพลาสติก แก้วพลาสติกไปผลิตเป็นกระเป๋า เสื้อยืด เป้ เป็นต้น 3.Ecosystem คือ การเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการใช้พลาสติก เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง

4.Inclusiveness คือ จีซีจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้า เอสเอ็มอีให้ปรับตัวกับสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค โดยมีแนวร่วมสำคัญจากพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) พันธมิตรของจีซี สนับสนุนการจัดเก็บถุงและฟิล์มพลาสติก ชนิดพอลิเอทิลีน (PE) และพอลิโพรไพลีน (PP) ที่แห้งและสะอาด และให้ความรู้ในการคัดแยกถุง และฟิล์มพลาสติกชนิด PE และ PP เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินำร่องอย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัท ฟาร์มดี เซอร์วิส จำกัด (FarmD) ที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบแผนงาน สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาตินำร่อง และพื้นที่ขยายผล รวมถึงการนำเครื่องมือใหม่ๆที่เกี่ยวข้องประยุกต์ใช้ในโครงการ โดยจีซีจะเป็นผู้กำหนดกระบวนการ ติดตามประเมินผล การดำเนินงาน โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ และรายงานผลให้ทุกฝ่ายทราบเป็นระยะๆ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นำร่อง

ขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมได้คัดเลือกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นพื้นที่นำร่อง ในการดำเนินงานโครงการเป็นแห่งแรก จากนั้นจะขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติ อีก 14 แห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ , อุทยานแห่งชาติเขาสก, อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก, อุทยานแห่งชาติภูกระดึง, อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย, อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด, อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์–ธารา-หมู่เกาะพีพี, อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมพร้อมให้การสนับสนุนทางวิชาการ ในการดำเนินโครงการโดยเฉพาะการจัดเก็บและแยกขยะถุง และฟิล์มพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) และพอลิโพรไพลีน (PP) รวมถึงบริหารจัดการถุงและฟิล์มพลาสติกชนิด PE และ PP ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่ 1 คือ ลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด ในปี 2562 ได้แก่ แคปซีล พลาสติกผสมสารอ็อกโซ และไมโครบีด และ 4 ชนิด ในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบาง) และหลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 100% ภายในปี 2570


แชร์ข่าวนี้