หน้าแรก เศรษฐกิจ ไวรัสโคโรนา : นายจ้าง เอสเอ็มอี และแรงงานนอกระบบต้องการรัฐเยียวยาอย่างไร หลังรัฐบาลสั่งปิดกิจการ

ไวรัสโคโรนา : นายจ้าง เอสเอ็มอี และแรงงานนอกระบบต้องการรัฐเยียวยาอย่างไร หลังรัฐบาลสั่งปิดกิจการ

417
แชร์ข่าวนี้

ไวรัสโคโรนา : นายจ้าง เอสเอ็มอี และแรงงานนอกระบบต้องการรัฐเยียวยาอย่างไร หลังรัฐบาลสั่งปิดกิจการ – BBCไทย

วันนี้ (24 มี.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณามาตรการชุดที่ 2 เพื่อช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานประกอบการอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตามยังมีหลายประเด็นที่ภาคเอกชนและแรงงานนอกระบบยังไม่มั่นใจ เพราะมาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมายังขาดรายละเอียดที่ชัดเจนและรอบด้าน

ก่อนที่มาตรการชุดใหม่จะได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บีบีซีไทยสอบถามตัวแทนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผู้แทนแรงงานนอกระบบว่า อะไรคือมาตรการเยียวยาและมาตรการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ที่สุด หลังจากจำต้องปิดสถานประกอบการแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน

เมื่อมองภาพใหญ่ น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐออกมาตรการหรือคำสั่งใด ๆ เพื่อบริหารจัดการวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19 แบบ “ยาแรง” เช่น การมีคำสั่งปิดสถานประกอบการหรือสถานที่ต่าง ๆ ควรจะต้องมีมาตรการรองรับอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ และควรจะต้องแจ้งล่วงหน้าต่อผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

เรียกร้อง “โรดแมปแก้วิกฤตองค์รวม”

“ในฐานะผู้ประกอบการ หากว่ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการประกาศปิดสถานประกอบการหรือ มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เราก็จะเตรียมตัววางแผนได้” เธออธิบาย

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อยราวแสนรายทั่วประเทศเรียกร้องว่า แทนที่รัฐจะประกาศมาตรการแบบฉับพลันอย่างที่ผ่านมา รัฐควรมีมาตรการที่เป็นโรดแมปที่ชัดเจน มีแผนสำรอง ที่สามารถรองรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ หรือที่เรียกในทางการบริหารความเสี่ยงว่า “ซินาริโอ แพลน (scinario plan) เพื่อให้เอกชนหรือประชาชนได้รู้กันล่วงหน้า

นับตั้งแตวันที่ 17 มี.ค.เป็นต้นมา ร้านอาหารต่าง ๆ รวมทั้งสถานประกอบการ 26 ประเภทถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว
นับตั้งแตวันที่ 17 มี.ค.เป็นต้นมา ร้านอาหารต่าง ๆ รวมทั้งสถานประกอบการ 26 ประเภทถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว

นอกจากนี้ น.ส. โชนรังสียังระบุว่า ท่ามกลางความตื่นตระหนกของประชาชนต่อการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลหรือหน่วยราชการควรจะใช้รูปแบบการบริหารจัดการเรื่องข่าวลวง (fake news) อย่างเป็นระบบอีกด้วย

ในวงจรเศรษฐกิจ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคือแหล่งจ้างงานสำคัญ และแหล่งเชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่และภาคการผลิตอื่น ๆ รวมทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนให้เห็นจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของ น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในเดือนมกราคมที่ฉายภาพรวมของเอสเอ็มอีปี 2562 ที่ผ่านมาว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมทั้งหมด 3 ล้านราย ทำให้เกิดการจ้างงานราว 13.95 ล้านคน หรือคิดเป็น 85.5% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ

สินเชื่อเร่งด่วน เติมสภาพคล่อง

ในภาวะปกติ อุปสรรคสำคัญของฟันเฟืองเศรษฐกิจเหล่านี้ก็คือการเข้าถึงแหล่งทุน หรือ สินเชื่อ แต่เมื่อมาถึงภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบัน เรื่องนี้ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่และสถานประกอบการอย่างฉับพลันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

น.ส. ประวีณ์นุช กิติวัฒนบำรุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท พราวิเนีย จำกัด ผู้ดำเนินการโรงเรียนพราวิเนีย ความงาม และธุรกิจสปา พราวิเนียบิวตี้สปา ย่านราชพฤกษ์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว ที่ครอบคลุมสถานบริการเสริมความงามด้วย

เธอคาดว่าต้องสูญเสียรายได้กว่าล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่รายจ่ายยังคงเดิม เนื่องจากยังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานเหมือนเดิม แม้ว่าร้านจะต้องปิดไปจนถึงวันที่ 12 เม.ย.ตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด

“คิดว่าไม่มีทางที่ธุรกิจจะกลับมาเปิดได้หลังวันที่ 12 เม.ย. เชื่อว่าการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นการซื้อเวลา เพราะคิดว่าสถานการณ์น่าจะลุกลามไปจนถึงเดือนพฤษภาคม” เธออธิบายและประเมินว่า ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาคือ “การขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ”

ผู้บริหารสปารายนี้บอกว่า มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่น่าจะตรงจุดมากที่สุดคือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำราว 0-1% ต่อปี หากสามารถทำได้ จะทำให้ธุรกิจของเธอสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนไขผ่อนปรน และระยะเวลาในการพิจารณาเงินกู้ไม่ยาวนานเกินไปอาจจะใช้ระยะเวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์

เรื่องการลดค่าใช้จ่ายก็สำคัญ เช่น การจ่ายค่าประกันสังคม ซึ่งก่อนหน้าที่ปรับลดลงจาก 5% มาเหลือ 4% ถือว่ายังไม่ไม่เพียงพอ ขณะที่ภาษีหักค่าที่จ่ายควรลดลงจากเดิม 3% เป็น 0 – 0.5% เป็นระยะเวลา 6 เดือนหรือถึงสิ้นปี

น.ส.โชนรังสี ซึ่งนอกจากจะเป็นประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยแล้ว ยังเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของธุรกิจสำนักพิมพ์ บริษัท บุ๊ค ไทม์ จำกัด ย่านพระราม 2 ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 40 ชีวิต กล่าวในฐานะผู้ประกอบการว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีจากการปิดห้างสรรพสินค้าคือ บริษัทของเธอต้องยุติการจัดแสดงและขายหนังสือ และเปลี่ยนมาขายผ่านทางระบบออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในการช่วยให้ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 30 ปีไปได้ในวิกฤตครั้งนี้ คือ “สินเชื่อ และ “การชำระภาษี”

“มาตรการที่ผ่านมา ที่ให้พักชำระเงินต้น โดยการยืดอายุการชำระออกไป 6-12 เดือนในระยะแรก ถือว่ายังไม่ตรงจุด อยากให้ลดดอกเบี้ยลงกว่าปัจจุบัน แม้ว่า กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลดลงแล้วก่อนหน้านี้” น.ส.โชนรังสีกล่าว

ด้านนายสมคิด ด้วงเงิน ประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) บอกกับบีบีซีไทยว่าหลังจากรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานประกอบการรอบแรกเมื่อวันที่ 17 มี.ค. สมาพันธ์ฯ ได้เสนอมาตรการสำหรับช่วยเหลือแรงงานนอกระบบและผู้มีรายได้น้อยไปเบื้องต้นแล้ว

ข้อเสนอของสมาพันธ์ฯ ซึ่งส่งให้คณะทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย

  • ขอให้ปรับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รายจิ๋ว และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับรถแท็กซี่รับจ้าง วงเงินสินเชื่อไม่เกิน หนึ่งล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% และลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1% ในกรณีที่มีการรวมกลุ่มอาชีพ
  • พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย รายจิ๋ว และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • ขอให้รัฐบาลเจรจากับสถาบันการเงินเอกชนเพื่อผ่อนคลายการชำระคืนเงินกู้ และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการรายย่อย รายจิ๋ว และผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  • ลดภาษีมูลค่าเพิ่มลง 1 % เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานนอกระบบและประชาชนทั่วไป

ขอขยายระยะเวลาส่งงบการเงินและยื่นภาษีออกไป 3 เดือน

ในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย น.ส.โชนรังสี บอกว่า สมาพันธ์ฯ ได้ร่วมกับอีก 4 สมาคมประกอบด้วย สมาคมสำนักงานบัญชีและกฎหมาย สมาคมสำนักบัญชีคุณภาพ สมาคมสำนักงานบัญชีไทย และสมาคมผู้สอบบัญชีอากรแห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายถึงอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอพิจารณาขยายระยะเวลากำหนดการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายระยะเวลายื่นงบการเงิน

ภาพประกอบ

โดยในเอกสารดังกล่าวระบุถึงข้อสรุปที่ 5 องค์กรได้หารือกันคือ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบันและยังไม่ทราบว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใดจึงขอยื่นขยายการจัดส่งงบการเงินและการยื่นภาษีเงินได้ออกไปอีก 3 เดือนหรือ 90 วัน

แรงงานนอกระบบวอนขอเยียวยา

จากข้อมูลของสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ระบุว่า แรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระทำการผลิตอยู่ตามบ้าน เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะ หมอนวด ช่างเสริมสวย ผู้ทำงานบริการ และอื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20.4 ล้านคน เป็นกลุ่มไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้การประกันสังคมมาตรา39 และมาตรา 40 เป็นผู้ไดรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน แต่บุคคลเหล่านี้กลับไม่ได้การเยียวยาจากทางการ โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน หลังจากที่รัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

น.ส. ลลิตา แซ่ว่าง พนักงานสอนนวดในธุรกิจสปา พราวิเนียบิวตี้สปา บอกว่าเธอก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องถูกให้พักงาน เพราะสถานประกอบการถูกสั่งปิดชั่วคราวตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องขาดรายได้ราว 500 – 1000 บาทต่อวัน โดยที่เธอเลือกที่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคหากเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดน่าน

ไวรัสโคโรนา : นายจ้าง เอสเอ็มอี
ศูนย์ออกกำลังกายก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ต้องถูกปิดให้บริหาร

เนื่องจากเธอเป็นลูกจ้างรายวัน จึงไม่ได้รับความคุ้มครองในแบบผู้ประกันตนฯ สิ่งที่เธอเรียกร้องคือ ขอให้ภาครัฐเปิดช่องทางให้แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบได้รับค่าชดเชยและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำวัน รวมถึงในการรักษา การตรวจฟรีโรคโควิดฟรี เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ

มาตรการช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงานมีอะไรบ้าง

  1. กรณีมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงาน 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท)
  2. กรณีผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากการสั่งปิดกิจการเพื่อลดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท)

สำหรับกรณีที่เป็นแรงงานนอกระบบนั้น นายอภิญญา สุจริตตานนท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์กับรายงาน “เจาะลึกทั่วไป อินไซด์ ไทยแลนด์” ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD เมื่อวันที่ 23 มี.ค. โดยยอมรับว่าไม่มีมาตรการเยียวยาสำหรับกลุ่มดังกล่าว แต่หากเป็นกรณีเป็นผู้ประกันตนฝ่ายเดียว ถ้าเจ็บป่วยที่จะได้รับค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนการขาดรายได้ สูงสุด 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 90 วัน


แชร์ข่าวนี้