หน้าแรก เศรษฐกิจ แจก 15,000 ลูกจ้าง-ฟรีแลนซ์ รัฐเยียวยา

แจก 15,000 ลูกจ้าง-ฟรีแลนซ์ รัฐเยียวยา

415
แชร์ข่าวนี้

ผู้ประกอบการชะลอจ่ายภาษีถ้าไม่พอมีอีก

“บิ๊กตู่” เผยงบฯกลางร่อยหรอเตรียมงัด พ.ร.ก.กู้เงินตั้งท่าสู้โควิดระยะ 3-4 ครม.ผุดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอนุมัติงบฯ 45,000 ล้าน แจกแรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระรายละ 15,000 บาท รวม 3 เดือน จ่ายตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. เริ่มลงทะเบียนเสาร์ที่ 28 มี.ค. หากไม่พอใช้สั่งแบงก์รัฐปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำรายละ 1 หมื่นไม่ต้องค้ำประกัน ถ้ายังไม่พอให้หาหลักทรัพย์มาค้ำประกันกู้ได้อีกกระทอก 5 หมื่น รวมวงเงิน 40,000 ล้าน พร้อมเปิดอบรมอาชีพให้เบี้ยเลี้ยงอีกวันละ 300 บาท แถมยืดเสียภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลออกไปอีก ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเสียภาษี ธุรกิจท่องเที่ยวเอาไปเลย 10,000 ล้าน ให้เงินกู้ก้อนพิเศษฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ “สมคิด” ลั่นมีเงินใช้แน่ๆ 3 เดือน ถ้ายังจำเป็นต้องใช้ก็แจกต่อไปเรื่อยๆ

รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากทำเนียบรัฐบาล ไปยังรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงว่า ครม.เห็นชอบหลายมาตรการเน้นหนักดูแลภาคประชาชนให้ทุกคนจะมีเงินใช้จ่ายในช่วงนี้ แต่ขอร้องให้ใช้เงินอย่างประหยัดรัฐบาลดูแลจนสถานการณ์คลี่คลาย ไม่ใช่ทำครั้งเดียวจบ เพราะสถานการณ์ยังไม่ทราบว่าจะยาวนานไปแค่ไหน สิ่งสำคัญมาตรการระยะที่ 2 จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินให้เพียงพอ อาจต้องใช้เงินกู้เพื่อเพิ่มเติมงบฯ ขณะนี้งบฯปี 63 มีค่อนข้างจำกัด งบกลางเหลือน้อยมาก จึงจำเป็นต้องจัดทำพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉบับต่างๆกู้เงินของกระทรวงการคลัง และเพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะที่ 3 และ 4 ต่อไป เราจำเป็นต้องดูแลประชาชนให้มากที่สุด ทั้งสถานประกอบการเพื่อลดการเลิกจ้างพนักงาน อะไรที่สามารถดำเนินการต่อไปได้เราจะมีมาตรการต่างๆรองรับเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินเพื่อเกิดสภาพคล่อง ทั้งมาตรการการเงินการคลังทางภาษีต่างๆออกมา โดยธนาคารของรัฐเข้าไปอำนวยความสะดวก

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมระยะที่ 2 แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 คือ การดูแลแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ด้านที่ 2 คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และด้านที่ 3 มาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจธุรกิจท่องเที่ยว หลังจากวันที่ 10 มี.ค. ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติมาตรการชุดที่ 1 ไปแล้ว แต่สถานการณ์และผลกระทบเช่นเดียวกัน กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการชุดที่ 2 เพื่อบรรเทาผลกระทบโดยเฉพาะแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ต้องตกงาน ทำให้มีรายได้ลดลง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะมีชุดที่ 3 ออกมาอย่างต่อเนื่อง หากการแพร่ระบาดยังไม่สงบ โดยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง กระทรวงการคลังจะมีมาตรการชุดที่ 3 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงต่อไป

รองนายกฯกล่าวว่า ด้านที่ 1 มาตรการดูแลและเยียวยาการดูแลแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3 ขั้นตอน คือ 1.รัฐบาลจ่ายเงินให้คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือน เม.ย. และสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. รวมเป็นเงิน 15,000 บาท ที่มีผลกระทบจากการปิดกิจการที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด เช่น สนามมวย สนามกีฬา สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปาและฟิตเนส เป็นต้น ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3 ล้านคน คาดว่ารัฐจะใช้เงินงบประมาณรวม 45,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเปิดเว็บไซต์ www.ไทยไม่ทิ้งกัน.com  ให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ในวันที่ 28 มี.ค.นี้

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ขั้นตอนที่ 2 หากวงเงินแรกไม่เพียงพอสามารถมาขอกู้สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย ไม่ต้องมีคนหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน โดยให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทยดำเนินการ มีวงเงินสินเชื่อรวม 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก เช่น ต้องผ่อนรถผ่อนบ้านจะมีขั้นที่ 3 เป็นสินเชื่อพิเศษวงเงินใหญ่ขึ้น ปล่อยกู้ 50,000 บาทต่อรายอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน แต่ต้องใช้หลักประกันมีวงเงินให้ 20,000 ล้านบาท นอกจากนั้นสำหรับคนกลุ่มนี้ต้องการเพิ่มทักษะโดยให้มาเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพหรือกิจกรรมเพื่อสังคม ครอบคลุมไปถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้จะได้รับเงินค่าอบรมวันละ 300 บาท และการขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นต้น ใน 3 เดือนนี้มีเงินใช้แน่ๆเดือนละ 5,000 บาท หากเกิน 3 เดือนยังจำเป็นก็ต่อไปเรื่อยๆ

นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จะมีกลุ่มแรงงานที่ได้รับความช่วยเหลือรับเงินจากรัฐครั้งนี้ 3 ล้านคน คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 200,000 ล้านบาท และเงินสภาพคล่องจากการชะลอจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาล ส่วนกรณีที่แรงงานประกันตนตามมาตรา 40 ประกอบอาชีพอิสระ หากตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการชุดที่ 2 ของสำนักงานประกันสังคมกรณีว่างงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจ่ายเงิน 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน หรือประมาณเดือนละ 7,500 บาท ในกรณีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท แต่หากเงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาทจะได้รับเงินจากประกันสังคมลดลงตามลำดับ และกรณีของสถานประกอบการที่รัฐสั่งหยุดประกอบกิจการรับเงิน 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 90 วัน นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สำนักงานธนานุเคราะห์ให้ไปรับจำนำดอกเบี้ยเพียง 0.125% ต่อเดือนวงเงิน 2,000 ล้านบาท

นายลวรณกล่าวว่า ทั้งนี้ยังมีมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจธุรกิจท่องเที่ยวโดยให้นำเงิน 10,000 ล้านบาท จากมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 150,000 ล้านบาทมาให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังเลื่อนการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุสำหรับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องไปจนถึงเดือน ก.ย.2563 และลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตรเป็น 0.20 บาทต่อลิตรจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2563

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรม สรรพากร กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบมาตรการทางภาษี ประกอบด้วย ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ช่วยดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยรวมไปถึงคนขับรถรับส่งผู้ป่วยด้วย พร้อมกับยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมสิ้นเดือน มี.ค. ขยายเป็นสิ้นเดือน มิ.ย. และล่าสุดขยายอีกเป็นสิ้นเดือน ส.ค.2563 ให้เพิ่มการหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม 15,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 บาท รวมทั้งเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด.50)จากเดิมจะยื่นสิ้นสุด 31 พ.ค.2563 ขยายไปเป็น 31 ส.ค.2563 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) จากเดิม 31 ส.ค.ยืดออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ก.ย.2563 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น คิดเป็นวงเงิน 120,000 ล้านบาท และจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด.51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า ทั้งยังเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี ทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น และขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ จากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปโดยให้ดำเนิน การดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.)

นอกจากนี้ ขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 ก.ค.2563 และยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษาวินิจฉัย หรือ ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนมีมาตรการทางภาษีอากร และค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด เช่าซื้อ ลีสซิ่ง และเจ้าหนี้อื่นที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับสถาบันการเงิน) นอกจากนี้ยังเพิ่มสภาพคล่องให้โดยจัดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อรายดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรกด้วย

ขณะที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ รมว.แรงงานได้ใช้อำนาจเปลี่ยนมติคณะกรรมการประกันสังคมจากเดิมให้จ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนในส่วนของลูกจ้างจาก 4% ลงเหลือ 1% เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากก่อนหน้านี้ที่ให้ปรับลดการจ่ายเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างจาก 5% เหลือ 4% ส่วนของนายจ้างยังจ่ายสมทบ 4%


แชร์ข่าวนี้