หน้าแรก สังคม ดราม่าคุกกี้พระเครื่อง ซ้ำรอยอาลัว 2 ปีก่อน คนไทยไม่ปลื้ม แต่เมืองนอกขายเพียบ

ดราม่าคุกกี้พระเครื่อง ซ้ำรอยอาลัว 2 ปีก่อน คนไทยไม่ปลื้ม แต่เมืองนอกขายเพียบ

127
แชร์ข่าวนี้

ดราม่าคุกกี้พระเครื่อง ปลุกเสกความอร่อย ซ้ำรอยอาลัว 2 ปีก่อน คนไทยไม่ปลื้ม แต่เมืองนอกขายเพียบ

(17 พ.ย.66) กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊กขายขนมแฮนด์เมดเพจหนึ่ง มีไอเดียทำขนมคุกกี้เป็นพิมพ์พระเครื่อง ซึ่งทำออกมาได้สมจริงทั้งรูปลักษณ์และสีของขนม

ทำให้โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจ และมีการแชร์ออกไปจำนวนมาก หลายคนชื่นชมในไอเดีย แสดงความเห็นในเชิงติดตลก

“ซึ้งในรสพระธรรม อร่อยจนแสงออกปาก”
“ก่อนทานต้องสาธุก่อน”
“ลองคิดเล่น ๆ วัดดัง ๆ ทำไอติมเสียบคุกกี้ ขายดีแน่นอน แต่ขายในวัดนะคะ”
“สวรรค์ในอก นรกในใจ กินคุกกี้พระเครื่องลงไป ในใจในอก นรกจางหาย”

แต่ก็มีบางส่วนก็มองว่า ไม่เหมาะสม ไม่ควรนำมาเล่น พร้อมเรียกร้องให้สำนักพุทธฯ เข้ามาตรวจสอบ

“ความคิดสร้างสรรค์ค่ะ แต่ขาดความเหมาะสม”
“ระวังสำนักงานพุทธฯ เข้าไปหานะคะ”
“ขอออกความเห็นนิดนึงนะครับ ในฐานะพุทธศาสนิกชน พระท่านเคยบอกไว้ว่า การทำแบบนี้คือการปรามาส (เหยียดหยาม) พระพุทธเจ้าตรง ๆ เลย”
“ถึงพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน แต่ตัวเราเองควรรู้ว่าอะไรต่ำ อะไรสูง ถูกต้องไหมคะ”

ย้อนกลับไปเมื่อ เดือนเมษายน 2564 โลกออนไลน์ก็ได้ฮือฮาและถกเถียงกันเรื่อง ขนมอาลัวพระเครื่อง ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ในวงการขนมไทย ทำให้ขายดีจนทำแทบไม่ทัน แต่ก็มีบางส่วนมองว่าไม่เหมาะสม 

ซึ่งในตอนนั้น นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่สมควรทำขนมอาลัวรูปทรงพระเครื่อง และทำหนังสือชี้แจงร้านขนมดังกล่าว ว่า ทำไม่ได้ และไม่สมควรทำ เพราะรูปพระเครื่องถือเป็นวัตถุมงคล เครื่องสักการะ บูชาพระพุทธเจ้า 

ขณะเดียวกันก็มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสงครามถึงความไม่เหมาะสม ในการทำขนมอาลัวเป็นรูปพระเครื่อง ทำให้ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปที่บ้านของแม่ค้าอาลัวพระเครื่อง จนสุดท้ายก็ต้องหยุดรับออเดอร์ไป

ต่อมาไม่นาน มีร้านจำหน่ายเค้กในจังหวัดสุรินทร์ ได้โพสต์รูปภาพเค้กช็อกโกแลต ที่ตกแต่งด้วยพระเครื่องหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นวัตถุมงคล พระเครื่องชื่อดังที่ประชาชนเคารพนับถือ ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อีกรอบ 

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวว่า ความก้าวหน้าของความคิดของคน เรามันคงหยุดไม่ได้ เพียงแต่คิดแล้วมันขัดข้องหมองใจกับอีกฝ่ายไหม ราบรื่นชื่นมื่นกับอีกฝ่ายหรือเปล่า เราอยู่ในสังคมถ้าความคิดเราไปกระทบกระเทือนความรู้สึกความเคารพนับถือ อยากให้ขอโทษขอโพยกัน และก็เลิกทำไปซะก็น่าจะดี

ส่วนใครที่รู้สึกกระทบกระเทือนใจ ก็ต้องมีการให้อภัยคนที่มีความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ ถึงจะแสลงใจเราบ้าง ลบหลู่ในสิ่งที่เรานับถือหรือเป็นมงคลเราก็ต้องทำใจ เพราะเราอยู่ในโลกนี้มันเป็นเรื่องนานาจิตตัง ถึงจะกระทบแต่เราก็ไม่กระเทือนค่อยพูดค่อยจาหาทางออกร่วมกัน ช่วงไม่กี่วันจะขนมอาลัว เป็นชิ้นเล็กๆ แต่วันนี้ขยายมาเป็นชิ้นใหญ่ซึ่งเป็นเค้กเลย

ส่วนคนที่คิดจะทำเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่องเรื่องวัตถุมงคลเรื่องที่เคารพนับถือ อาตมาก็อยากให้มีความเกรงใจ ในเรื่องที่มีคนเคารพนับถือเราไม่คิดแต่คนอื่นคิดเราจะทำยังไง ขนมเค้กมีรูปอื่นเยอะแยะ เอารูปนางงามจักรวาลก็น่ากิน แต่อย่าเป็นรูปวัตถุมงคลที่เขานับถือ ส่วนคนที่นับถือก็อย่างมงายเกินไป จนกระทั่งกระทบกระทั่งถึงกับจะต้องมาทำร้ายร่างกายกันมันไม่ถูกต้อง เอาแค่พอดีก็แล้วกัน

อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ประเทศทั้งญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่ที่ประเทศจีน ก็มีขนมที่มีรูปทรงเหมือนกับหน้าพระพุทธเจ้าเช่นกัน ซึ่งขนมเหล่านั้นกลับกลายเป็นของฝากที่ทรงคุณค่าในสายตานักท่องเที่ยว กลายเป็นของฝากประจำถิ่นและสร้างมูลค่าให้กับชาวบ้าน ทำให้ขนมรูปหน้าพระพุทธเจ้าบางที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝากของสถานที่นั้นๆ ไปเลย ดั่งเช่นขนมพระใหญ่ไดบุตสึ จากเมืองคามาคุระ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น นั่นเอง

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้