หน้าแรก การเมือง ‘บิ๊กแป๊ะ’ รุดแจง กมธ.กฎหมาย ยันไร้ทหารสั่ง ปมวิ่งไล่ลุง ลั่นไม่อยากให้ลงถนน

‘บิ๊กแป๊ะ’ รุดแจง กมธ.กฎหมาย ยันไร้ทหารสั่ง ปมวิ่งไล่ลุง ลั่นไม่อยากให้ลงถนน

549
แชร์ข่าวนี้

เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 19 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกมธ. มีการพิจารณา เรื่อง สืบหาข้อเท็จจริงการใช้อำนาจแทรกแซงการจัดงานวิ่งไล่ลุง

โดยมีพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบ.ตร. เข้าชี้แจงต่อกมธ.โดยก่อนเข้าวาระ นายปิยบุตรได้กล่าวชื่นชมผบ.ตร. และคณะที่ได้แสดงความกล้าหาญ คลี่คลายเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา โดยกมธ.ได้พร้อมใจกันปรบมือเพื่อเป็นการชื่นชม

ทั้งนี้ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธานกมธ. ถามถึง แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ควบคุมกิจกรรมการวิ่งไล่ลุงครั้งที่ผ่านมา เพราะในแต่ละพื้นที่เจ้าหน้าตำรวจมีการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่นใน จ.อุบลราชธานี จ.พะเยา ผู้จัดการชุมนุมวิ่งไล่ลุง ถูกคุกคาม มีการแจ้งข้อหาต่างๆ ส่วนในกรุงเทพฯ ไม่มีปัญหาอะไร ตกลงแล้วแนวทางปฏิบัติจากส่วนกลางเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ยังได้สอบถาม ถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนแผนการเตรียมการ ซึ่งเป็นสืบสวนหาข่าวเพื่อหาว่ามีการชุมนุมที่ใดบ้างทั้งที่แจ้งและไม่แจ้ง เข้าใจว่าแผนนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหาร ย่อมมีความอ่อนไหวต่อการชุมนุมตลอดเวลา แต่เมื่อผ่านยุครัฐบาลมาแล้วทางตำรวจมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนอย่างไร เพราะเป็นวิธีที่กระทบกับเสรีภาพของประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์เสรีภาพในการชุมนุมกับประชาชน

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษก กมธ. ถามว่า ขณะนี้มีการตั้งแง่กับผบ.ตร. ว่ามีการปฏิบัติต่อม็อบที่ไม่เหมือนกัน ระหว่างม็อบสวนยาง กับอีกกลุ่มม็อบที่ดูเหมือนจะอยู่ตรงข้ามกับทหาร เป็นการเลือกปฏิบัติในกรณีบางกิจกรรมที่จัดขึ้นหรือไม่ มีทหารสั่งการให้ดำเนินการบางอย่างหรือไม่ หลายคดีที่นักกิจกรรมการทางเมืองถูกทำร้ายก็ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชี้แจงว่า แนวนโยบายหลักที่ให้ไปเมื่อมีการวิ่งไล่ลุง คือให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน และขอยืนยันว่าทหารไม่ได้มาแทรกแซงตนแต่อย่างใด ส่วนตัวไม่อยากให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ตอนเสื้อแดงพีคๆ เสื้อเหลืองพีคๆ ตนอยู่ในเหตุการณ์ทั้งนั้นเราถอดบทเรียนมาตลอด

พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวอีกว่า ตนถือว่าการชุมนุมปัจจุบันเรียบร้อยขึ้นมาก ไม่เหมือนอดีตที่มีการใช้อาวุธกันมาก ไม่อยากเห็นอะไรทั้งนั้น การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคพวกท่านได้รับเสียงกันเยอะแยะ สิ่งที่ตำรวจไม่อยากเห็นเลยคือการลงถนน และต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล เรื่องการกระทบกระทั่งกันตำรวจ ไม่เกี่ยวเลย ไม่อยากให้มีด้วยซ้ำ

“ผมเป็นตัวกลางผมไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ผมไม่ได้รับการติดต่อจากทหารเลย อย่าสงสัยว่าตำรวจเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ผมเอียงไม่ได้ ถ้าผมเอียงก็จะโดน 157 จากวิ่งพวกคุณก็มาอีกเวอร์ชั่น ผมก็เฝ้าดูอยู่ ผมขออย่างนี้แล้วกัน อย่าทำอะไรให้สุ่มเสี่ยงกฎหมาย เพราะมันอันตราย”

พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องจ่านิวถูกทำร้าย ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องไปดูว่าเคยพูดอะไรไว้ที่ลานโพธิ์ ส่วนเรื่องนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยถูกทำร้ายก็ยังจับไม่ได้ การเมืองเป็นลักษณะแบบนี้ บทเรียนที่ใครเป็นแกนนำ ก็จะส่งผลในปัจจุบัน สมัยก่อนตนยังเคยโดนค้นเลย หากกฎหมายไม่เป็นกฎหมาย บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร

ขณะที่พล.ต.อ.สุวัฒน์ ชี้แจงว่า แนวทางการดูแลการวิ่งไล่ลุงจากส่วนกลางไม่มีอะไรมาก เราเพียงแต่ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่านดูแลเรื่องความปลอดภัย แต่ถ้าทำผิดก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอาญา อย่างในเรื่องการสืบสวนหาข่าว เข้าใจว่าน่าจะเป็นแนวทางกรกฎ ทุกวันนี้เราพยายามรีวิวว่า แผนดังกล่าวมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ แต่การสืบสวนหาข่าวเป็นอำนาจตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรวบรวมหาข้อมูลของเขา เท่าที่รับทราบรายงานไม่มีปัญหาในการทำงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้สั่งอะไร ทั้งนี้แผนต่างๆก็จะได้มีการทบทวนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ถ้าหากมีการคุกคามก็ให้ว่ากันเป็นเรื่องเรื่องไป

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า อำนาจของพนักงานสอบสวนส่วนกลางไม่สามารถเข้าร่วมได้ ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาทุกคนได้รับการอบรมกันมาหมดแล้ว แต่วิธีการคุยของเจ้าหน้าที่อาจแตกต่างกันไปบ้าง เพราะแต่ละพื้นที่เจ้าหน้าที่มีความวิตกกังวลไม่เหมือนกัน เช่น มีการแจ้งชุมนุมหรือไม่ หรือบางกลุ่มอาจจะคุยยาก เมื่อลงถนนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น

ส่วนแนวทางการปรับปรุงแผนการเตรียมการรับมือการชุมนุมนั้นต้องใช้ระยะเวลา ว่ารูปแบบที่ใช้อยู่สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันเพียงใด การใช้ระยะเวลาประเมินเพียงแค่ 2-3 เดือนถือว่าสั้นไม่สามารถทำได้ ดังนั้นการสืบสวนหาข่าวอย่างไรเสียก็ต้องทำ และทุกเรื่องต้องมีการพูดคุยเพื่อลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนรับปากไม่ได้ว่าจะแก้ได้มากน้อยเพียงใด เรื่องกระทบสิทธิเราก็เข้าใจอยู่ เพราะเราก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นตำรวจจนตาย แต่กรณีที่กรรมาธิการหลายท่านมีความกังวลก็ขอให้บอกข้อมูลกับเรา แล้วเราจะเรียกมาพูดคุยเป็นกรณีไป

ขณะที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกมธ.สอบถามว่าจะปรับปรุงกฎหมายอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์ และสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้
ผบ.ตร. ชี้แจงว่า มีการปรับปรุงมาตลอด และยินดีที่จะรับข้อเสนอของกมธ.ไปพิจาณณาปรับปรุง เพราะตนไม่ใช่คนดื้อด้าน

ส่วน พล.ต.อ.สุวัฒน์ ชี้แจงว่า เท่าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ไม่มีใครทำผิดกฎหมายแต่วิธีปฏิบัติไปพูดคุยกับผู้จัดกิจกรรมกลุ่มต่างๆ แตกต่างกัน ส่วนแนวทางการปรับปรุงการทำงาน ต้องใช้เวลาดูว่าโมเดลที่ใช้อยู่ปัจจุบันสอดคล้องกับสถานการณ์แค่ไหน

“เรื่องความปลอดภัย สตช. มีมาตรการอยู่แล้วหากร้องขอให้ไปดูแลกรณีนักเคลื่อนไหวถูกลอบทำร้าย ระยะเวลา 3-5 เดือนยังสั้น เราไม่รู้ว่าอีก 2 เดือนจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครมาการันตีให้เรา อยากให้ทุกคนเดินไปตามกรอบกติกา จึงรับปากไม่ได้ว่าจะแก้ไขแผนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีใครจ้องจะจับใคร” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว


แชร์ข่าวนี้