หน้าแรก สังคม วันความหลากหลายทางชีวภาพสากล กับ 6 เหตุผลที่อาหารของเราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

วันความหลากหลายทางชีวภาพสากล กับ 6 เหตุผลที่อาหารของเราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

508
แชร์ข่าวนี้

วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันความหลากหลายทางชีวภาพสากล องค์กรพิทักษ์สัตว์ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล จึงเชิญชวนให้ผู้บริโภคมาลองศึกษาเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพในโลกของเรา ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2014 60 % ของสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา และสัตว์เลื้อยคลานได้สูญพันธุ์ไป และการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ก็เป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์นี้

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญประจำประเทศไทยของซิเนอร์เจีย แอนิมอล กล่าวว่า “การเสียสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพเช่นนี้ไม่ได้เป็นภัยแค่ต่อสัตว์เท่านั้น การที่มีสายพันธุ์สัตว์และพืชสูญพันธุ์ไปเช่นนี้ถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสัตว์และพืชช่วยควบคุมอุณหภูมิ ภูมิอากาศและการผสมเกสรของพืชพรรณต่างๆ”

สิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางชีวภาพ คือการทำในส่วนของเราเพื่อให้โลกมีโอกาสฟื้นฟูตัว นี่คือ 6 เหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการบริโภคของเราและลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นทางหนึ่งที่เราทุกคนคนทำได้เพื่อช่วยโลก

1. ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) ระบุว่า 80% ของพื้นที่การเกษตรในโลกนี้ใช้ไปกับการปศุสัตว์ ทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน ชีวิตสัตว์ตกอยู่ในอันตราย และเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการทำลายป่าแอมะซอนและทุ่งหญ้าสะวันนาในประเทศบราซิล วิชญะภัทร์อธิบายว่า “ประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม หากเราบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง เราก็จะลดความต้องการเนื้อสัตว์ลงได้ และช่วยแบ่งเบาภาระที่ที่ดินต้องรับเพื่อการผลิตอาหาร การผลิตพืชผักเพื่อการบริโภคของมนุษย์โดยตรงใช้ที่ดินน้อยกว่ามาก”

2. สัตว์ป่าไม่ถูกกำจัดทิ้ง

บ่อยครั้งเกษตรกรมองว่าสัตว์ป่าเช่น วัวไบสัน จิงโจ้ ม้าลายและควายป่า เป็นภัยคุกคามต่อการผลิตเนื้อสัตว์ และมาแย่งอาหารจากสัตว์ในฟาร์มกิน สัตว์ป่า เช่น หมาป่าและสัตว์ตระกูลแมวก็ล่าสัตว์ในฟาร์มเป็นอาหาร ทำให้ผู้ผลิตเนื้อสัตว์มักจะกำจัดสัตว์ป่าทิ้ง หากเราเลิกกินเนื้อสัตว์ เกษตรกรก็จะหันไปเก็บเกี่ยวพืชผัก และสัตว์ป่าก็จะไม่ต้องถูกกำจัดทิ้ง

3. มีอาหารให้สัตว์ป่ากิน

เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่ามากินพืชผลในไร่นาของตน เกษตรกรมักจะสร้างรั้วล้อมไว้ ซึ่งอาจกีดขวางเส้นทางการย้ายถิ่นของสัตว์ป่าได้ เมื่อเดินทางไปไหนไม่ได้ สัตว์ป่าอาจขาดน้ำหรืออาหารจนตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

4. มลพิษทางน้ำ

น้ำส่วนใหญ่ที่สัตว์ในฟาร์มดื่มกินจะกลับคืนสู่ธรรมชาติในรูปแบบของเสีย ซึ่งเป็นของเหลวที่เต็มไปด้วยเชื้อก่อโรค โลหะหนัก ยาตกค้าง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ของเสียจากสัตว์เป็นสสารอย่างหนึ่งที่ใช้อ็อกซิเจนมากที่สุด ทำให้ตะไคร่น้ำในทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ และบริเวณชายฝั่งโตรวดเร็วผิดปกติ นอกจากจะดูดอ็อกซิเจนจากน้ำไปเป็นจำนวนมากแล้ว ตะไคร่น้ำก็ยังปล่อยสารพิษ ทำให้สายพันธุ์อื่นๆ ในน้ำไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

5. ชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ 14.5% -18% เป็นก๊าซที่ปล่อยจากการปศุสัตว์ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการปศุสัตว์ทั้งหมด 41% มากจากเนื้อวัว ส่วนการผลิตนมวัวก็มีส่วนในการผลิตก๊าซเรือนกระจกถึง 20%

วิชญะภัทร์กล่าวว่า “การปศุสัตว์เป็นตัวการของภาวะโลกร้อนและหายนะทางธรรมชาติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา” และแน่นอนว่าสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เหมือนที่เราเห็นตัวอย่างจากไฟป่าออสเตรเลียเมื่อเดือนกันยายนปี 2019 นอกจากนี้ ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังทำลายแนวปะการัง ซึ่งยูเนสโกถือว่าเป็น “แหล่งอนุบาลชีวิตแห่งมหาสมุทร” และ “ศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพ”

6. ผ่อนภาระให้กับสัตว์ในทะเล

ข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่า หากยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายในปี 2010 สายพันธุ์สัตว์ทะเลมากกว่าครึ่งจะอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากการประมงเกินขนาด ซึ่งจับเอาสายพันธุ์สัตว์ทะเลไปจากท้องทะเลจนเกินกำลังที่ทะเลจะฟื้นฟูตัวเองได้ หากเราเลิกกินปลาและสัตว์ทะเล ก็จะไม่ต้องมีสัตว์ถูกนำขึ้นมาบนบกและขาดอากาศหายใจจนตาย เต่า โลมา และสัตว์อื่นๆ นับหลายล้านชีวิต ก็ไม่ต้องโดนลูกหลงเข้าไปติดในแหจับปลา

6 เหตุผลเหล่านี้ก็น่าจะมากพอที่จะแสดงให้เราเห็นว่า การเลิกกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ หรืออย่างน้อยก็ลดปริมาณลง จะช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าถูกทำร้ายหรือสูญพันธุ์ ถึงเวลาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเราแล้ว เพื่อปกป้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในโลกให้ดำรงอยู่ต่อไป

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :Sinergia Animal Thailand

ภาพ :AFP

แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้