หน้าแรก สังคม นักพฤกษศาสตร์เฮ! ไทยพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลก 8 ชนิด หลังใช้เวลาศึกษานาน 23 ปี

นักพฤกษศาสตร์เฮ! ไทยพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลก 8 ชนิด หลังใช้เวลาศึกษานาน 23 ปี

631
แชร์ข่าวนี้

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของสำนักหอพรรณไม้ มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ฯ ได้ร่วมวิจัยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด

โดยมี 5 ชนิดเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหางเสือ (Platostoma) วงศ์กะเพรา (Lamiaceae) ซึ่งตนเริ่มทำการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 23 ปี พืชชนิดใหม่จำนวน 5 ชนิดนี้ 3 ชนิด พบที่ป่าภูวัว-ภูลังกา จ.บึงกาฬ 1 ชนิดพบที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ และอีก 1 ชนิด พบที่ทางเข้าวนอุทยานภูล้อม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ทั้ง 5 ชนิดนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับที่ 47(2) หน้า 226–240 ปี 2562 ซึ่งรายละเอียดพืชชนิดใหม่มีดังนี้

1.กะเพราถ้ำพระ Platostoma albiflorumSuddee, A. J. Paton & J. Parn.ไม้ล้มลุก พบบริเวณใกล้น้ำตกถ้ำพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ได้ร่วมกับ Dr. Alan Paton นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และProf. John Parnell นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากทรินีตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ตัวอย่างต้นแบบ Suddee, Hemrat & Kiewbang 5326 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

ลักษณะของกะเพราถ้ำพระ เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นช่อกลมแน่นเรียงห่าง ๆ กัน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก แต่ละแฉกปลายแหลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ผิวมีขน

2.ม่วงบุศบรรณ Platostoma busbanianumSuddee, A. J. Paton & J. Parn. ไม้ล้มลุก
พบบริเวณทางเข้าน้ำตกถ้ำพระ ทางเข้าวัดถ้ำโขง และบริเวณก้อนน้ำอ้อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ได้ร่วมกับ Dr. Alan Paton นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และProf. John Parnell นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากทรินีตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ตัวอย่างต้นแบบ Suddee, Hemrat & Kiewbang 5325 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ คำระบุชนิด “busbanianum”

ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตข้าราชการหอพรรณไม้ ผู้สร้างลูกศิษย์เพื่อปฏิบัติงานทางด้านอนุกรมวิธานพืชในประเทศไทยมากมาย

ลักษณะของม่วงบุศบรรณ เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นช่อหลวม ๆ เรียงห่าง ๆ กัน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกบน 1 แฉก ปลายแหลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วง ขอบกลีบปากมีขนยาวสีม่วง       
3.เห็มรัตน์ภูลังกา Platostoma hemratianumSuddee, Puudjaa & Kiewbang ไม้ล้มลุก
พบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูลังกา ในเขต อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ได้ร่วมกับนายพาโชค พูดจา และนายวิทวัส เขียวบาง เจ้าหน้าที่หอพรรณไม้ ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ตัวอย่างต้นแบบ Suddee, Puudjaa, Hemrat & Kiewbang 5387 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ คำระบุชนิด“hemratianum”ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นายจันดี เห็มรัตน์ เจ้าหน้าที่หอพรรณไม้ ที่ร่วมสำรวจพรรณพืชและเป็นผู้จัดการตัวอย่างตามโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทยมาอย่างมุ่งมั่นและยาวนาน

ลักษณะของเห็มรัตน์ภูลังกา เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกตามซอกใบเรียงชิดติดกันที่ปลายลำต้น ลักษณะเป็นช่อคล้ายทรงกระบอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก แต่ละแฉกปลายแหลมถึงมนกลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ผิวมีขน

4.ข้าวตอกภูแลนคา Platostoma ovatum Suddee, A. J. Paton & J. Parn., ไม้ล้มลุก พบบริเวณริมหน้าผา อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ ได้ร่วมกับ Dr. Alan Paton นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และProf. John Parnell นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากทรินีตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ตัวอย่างต้นแบบ Suddee, Hemrat & Kiewbang 5230 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

ลักษณะของข้าวตอกภูแลนคา เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกออกตามซอกใบ เรียงห่าง ๆ กัน ดอกในช่อจำนวนน้อย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก แฉกกลางขนาดใหญ่สุด บิดโค้งขึ้น ปลายแหลมถึงมนกลม แฉกข้าง 2 แฉกมีขนาดเล็ก ปลายแหลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาวอมม่วง โคนหลอดด้านบนมีติ่ง ผิวหลอดมีขน
5.ม่วงศรีโพธิ์ไทร Platostoma parnellianumSuddee, A. J. Paton & Kiewbang, ไม้ล้มลุก พบบริเวณริมทางเข้าวนอุทยานภูล้อม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ได้ร่วมกับ Dr. Alan Paton นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และนายวิทวัส เขียวบาง เจ้าหน้าที่หอพรรณไม้ ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ตัวอย่างต้นแบบ Suddee, Mattapha, Hemrat & Kiewbang 4993 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ คำระบุชนิด“parnellianum”

ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์จอห์น พาร์แนล แห่งทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน หนึ่งในคณะบรรณาธิการโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ผู้ให้ความช่วยเหลือโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ลักษณะของม่วงศรีโพธิ์ไทร เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นช่อหลวม ๆ เรียงชิดกันแต่มีช่องว่าง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก เมื่อเป็นผลเห็นเป็นแฉกเดียว ปลายมนกลม โดยแฉกข้างลดรูปลงไปมาก แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วง เกสรเพศผู้ชี้ตรงเห็นเด่นชัด

นายสมราน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าบริเวณป่าภูวัว-ภูลังกา เป็นพื้นที่พิเศษที่พบพืชชนิดใหม่ของโลกเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีพรรณไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของพืช และเป็นชนิดใหม่ถูกตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากกว่า 30 ชนิด ใน 15 วงศ์ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการด้านการอนุรักษ์พื้นที่และการวิจัยต่อเนื่องต่อไป”

นายสมราน กล่าวต่อว่า สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด อยู่ในสกุลสาธรหรือขะเจ๊าะ (Millettia) ในวงศ์ถั่ว(Fabaceae) รับผิดชอบทำการศึกษาโดย ดร.สไว มัฐผา นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ถั่วจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ร่วมวิจัยกับนักพฤกษศาสตร์จากหอพรรณไม้ โดยชนิดที่พบนี้เป็นไม้เถาซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่าหางไหล ในจำนวนนี้ 1 ชนิด พบที่พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อุ้มผาง จ.ตาก อีก 1 ชนิด พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ โดยทั้ง 2 ชนิด ได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับที่47(2) หน้า 171–183 ปี 2562 ได้แก่

1.พรรณรายภูวัว หางไหลภูวัว Millettia phuwuaensisMattapha & Suddee ไม้เถา พบบริเวณใกล้น้ำตกถ้ำพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว โดยตนได้ร่วมกับ ดร.สไว ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ตัวอย่างต้นแบบMattapha,Suddee & BKF staff1127เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ มีลักษณะเป็นไม้เถา ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน มีใบย่อย 5-9 ใบ ช่อดอกออกตามซอกใบหรือตามกิ่งแก่ ดอกสีชมพูอมม่วงแดง กลีบดอกบนด้านหลังมีแถบตามยาวสีแดงอมน้ำตาล ผลเป็นฝักแบน เมล็ดค่อนข้างกลม

2.หางไหลทุ่งใหญ่ พิไลสมราน Millettia suddeei Mattapha & Tetsana ไม้เถา พบบริเวณลำธารหินปูน หน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก น.ส.นัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ได้ร่วมกับ ดร.สไว ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ตัวอย่างต้นแบบSuddee, Tetsana & BKF staff 5206 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ ลักษณะเป็นไม้เถา ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน มีใบย่อย 5-9 ใบ ผิวใบด้านบนเป็นร่องตามเส้นแขนงใบชัดเจน ช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกสีชมพูอมม่วง

ส่วนพืชชนิดใหม่ของโลกอีก 1 ชนิด คือ เอื้องมรกตพุทธวงค์ Liparis buddhawongiiTetsana, Watthana & H. A. Pedersen กล้วยไม้ดิน อยู่ในสกุลเอื้องกลีบม้วน(Liparis) ในวงศ์กล้วยไม้(Orchidaceae) รับผิดชอบทำการศึกษาโดย น.ส.นัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ ถูกค้นพบโดยนายวินศ์ พุทธวงค์ บริเวณเขาหินปูนแถบอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ จึงได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดร.สันติ วัฒฐานะ และผู้รับผิดชอบหลักการศึกษาพืชวงศ์กล้วยไม้ของไทยจากประเทศเดนมาร์ก Dr Henrik Pedersen ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Phytotaxaฉบับที่ 421(1) หน้า001–065 ปี 2562

เอื้องมรกตพุทธวงค์ ขึ้นบนเขาหินปูน ใบ 2 ใบ แผ่ติดดิน ขนาดไม่เท่ากัน ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้น ดอก 5-15 ดอก ดอกสีเขียวมรกต กลีบปากขนาดใหญ่ มีสันตรงกลางตามยาว คำระบุชนิด“buddhawongii” ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นายวินศ์ พุทธวงค์ ผู้ค้นพบ ตัวอย่างต้นแบบ Buddhawong 021 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้


แชร์ข่าวนี้