หน้าแรก เศรษฐกิจ สภาพัฒน์ชำแหละหนี้ครัวเรือน

สภาพัฒน์ชำแหละหนี้ครัวเรือน

515
แชร์ข่าวนี้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3/2562 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอในประเด็น หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 62 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 6.3% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่วนภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 62 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็น 2.81% ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 62 คาดว่า จะชะลอตัวลงอีก แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงเพิ่มขึ้น

“สศช.ได้มีการรายงานสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในส่วนต่างๆให้ ครม.รับทราบประกอบไปด้วย หนี้สินจากการซื้อที่อยู่อาศัย 33.8% หนี้สินจากการซื้อรถยนต์ 12.9% หนี้ทั้งสองส่วนอยู่ที่ 46.7% ถือว่าเป็นหนี้ซึ่งมีหลักประกันจึงไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่หนี้สินส่วนบุคคลอยู่ที่ 24% หนี้สินของภาคธุรกิจและการพัฒนาอาชีพอยู่ที่ 18.6% และหนี้จากการศึกษาอยู่ที่ 3.1% สินเชื่อจากบัตรเครดิตอยู่ที่ 3% และการส่วนหนี้สินอื่นๆอยู่ที่ 4.6%”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้มอบหมายให้ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สศช. กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแยกสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนให้เห็นแบบชัดๆ ว่ามาจากหนี้ประเภทใดบ้าง


แชร์ข่าวนี้