หน้าแรก เศรษฐกิจ ส.อ.ท. ชี้ ขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนการเงินพุ่ง

ส.อ.ท. ชี้ ขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนการเงินพุ่ง

249
แชร์ข่าวนี้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

เป็นร้อยละ 0.75 จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สอดคล้องกัน ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติ ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะปรับผลต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กว้างมากขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางการเงินของธนาคาร และจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 นั้น จะส่งผลทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น ร้อยละ 0.75-1.00

ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนการให้สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าเงินสินเชื่อถึง 2.29 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 12.68 ของมูลค่าเงินให้สินเชื่อทั้งหมด

โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาระอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดการขอสินเชื่อสูง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

โดยผลกระทบดังกล่าวรวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีการกู้ยืมเงินมาลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการหลังโควิด-19 โดยยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งหมด 3.49 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 19.35 ของยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อรวมทั้งหมดของประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะต้องแบกรับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว จากราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งค่าขนส่งโลจิสติกส์ และยังต้องเตรียมรับมือกับการการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยโดยตรง

ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดุลยภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเหมาะสมต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าไทย และขอให้ ธปท. ควบคุมและดูแลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์

โดยให้ผลต่าง (Spread) ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ไม่กว้างเกินไป และควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม

เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและประชาชน ขอให้ภาครัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และประชาชนผู้มีรายได้น้อย เช่น มาตรการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัวรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อไป

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : INNnews


แชร์ข่าวนี้