หน้าแรก สังคม “เจ้าสัวธนินท์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ตอบรับจดหมายจากนายกฯ ทุ่มเงินสู้โควิด 700 ล้าน

“เจ้าสัวธนินท์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ตอบรับจดหมายจากนายกฯ ทุ่มเงินสู้โควิด 700 ล้าน

431
แชร์ข่าวนี้

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) โดยความตอนหนึ่ง ระบุว่า จะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้มาร่วมกันช่วยเหลือประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19

ล่าสุด นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือตอบรับนายกรัฐมนตรี ระบุใจความว่า

“ผมถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทย”

สิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป โดยระยะแรกประกอบไปด้วย การให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ การสร้างโรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ใช้งบประมาณ 175 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน การบริจาคชุดป้องกัน Tyvek 400 Tychem 2000 หน้ากาก N95 แว่นตานิรภัย ถุงคลุมเท้า ชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว (Coverall) และหน้ากากป้องกันเชื้อ (Face Shield) 

มอบเงิน 77 ล้าน ให้กับ 77 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน สนับสนุนอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ สนับสนุนแท็บเล็ต และโทรศัพท์วิทยุสื่อสาร จำนวนกว่า 500 เครื่อง พร้อมซิมทรูมูฟ เอช ที่ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน แก่โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวม 50 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการโดยกลุ่มทรู เป็นต้น 

การช่วยเหลือประชาชนและแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ได้แก่ การดูแลผู้เฝ้าระวังตนที่กลับจากต่างประเทศ ผ่านโครงการมอบอาหารจากใจ ต้านภัยโควิด-19 ส่งอาหารถึงบ้านกว่า 20,000 ราย (จบโครงการแล้ว) ดำเนินการโดย CPF การมอบไข่ไก่ การแบ่งเบาค่าครองชีพด้วยการจำหน่ายอาหารพร้อมทานในราคา 20 บาท จำนวน 1,000,000 ถาด และข้าวกล่องจำนวน 13 ล้านกล่อง จำหน่ายในราคา 20 บาท เป็นต้น

CP ALL มีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 20,000 อัตรา และ CPF มีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 5,000 อัตรา เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ส่วนพนักงานกว่า 30,000 คนในประเทศไทยไม่มีนโยบายเลิกจ้าง หากพนักงานได้รับเชื้อโควิด-19 มีนโยบายดูแลพนักงานโดยรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล บุคคลในครอบครัวของพนักงานหากได้รับผลกระทบ มีการมอบคูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 

มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร SMEs นำร่องกว่า 50 ร้านค้าพันธมิตรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และสนับสนุนพื้นที่สื่อโฆษณาทุกช่องทาง ถวายปัจจัยสมทบทุนช่วยเหลือพระสงฆ์ทั่วประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จำนวน 500 วัด

การให้ความช่วยเหลือชุมชน มีโครงการกองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับ CPF ดำเนินการส่งมอบอาหารให้กับชาวชุมชนคลองเตยกว่า 8,499 หลังคาเรือน และ โครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกทม. ร่วมกับ CPF ส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2563 ส่งมอบอาหารมื้อกลางวันเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับชาวชุมชนแออัดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 2 เดือน

“ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส กล้าตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ได้นำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ประกอบด้วย 

  • โครงการปลูกน้ำ เพื่อนำพื้นที่ที่ปกติน้ำท่วมทุกปีมาพัฒนาเป็นแหล่งแก้มลิง เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรกรโดยรอบ 
  • โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต้นแบบ เพื่อยกระดับรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรให้มีรายได้อย่างพอเพียง โดยจะคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบใน 3-4 จังหวัด โดยอาศัยหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย 
  • สร้างความต่อเนื่องให้กับระบบการเรียนของนักเรียน นักศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทางทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนาแพลตฟอร์มวีเลิร์น (VLEARN) เพื่อรองรับการเรียนรู้ได้จากทุกที่ สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และการเรียนระบบออนไลน์ 
  • การให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทุนวิจัย สร้างความร่วมมือด้านงานวิจัย และพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ และศูนย์วิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการค้นคว้าอุปกรณ์ตรวจเชื้อ วัคซีนและยารักษา 

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการที่ดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผล จึงถือได้ว่าโครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริมในการบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในเอกสารฉบับนี้ เป็นมุมมองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือเจริญโภคภัณฑ์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป”

ขอขอบคุณ
แหล่งที่มา : sanook


แชร์ข่าวนี้