หน้าแรก เศรษฐกิจ ลุ้นระทึกเสร็จภายใน 5 ปี เปิด 5 กลยุทธ์นำ “การบินไทย” ฟื้นฟูกิจการ

ลุ้นระทึกเสร็จภายใน 5 ปี เปิด 5 กลยุทธ์นำ “การบินไทย” ฟื้นฟูกิจการ

446
แชร์ข่าวนี้

ไทม์ไลน์ฟื้นฟูกิจการการบินไทย ลุ้น เม.ย.64 ศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟู และตั้งผู้บริหารแผน เดินหน้าฟื้นฟูต่ออีก 5 ปี แจง 5 ทางรอดสู่การฟื้นตัว อาทิ ปรับโครงสร้างหนี้-ปรับเส้นการบิน-หน่วยธุรกิจ ที่ปรึกษากฎหมายแจงเจรจาเจ้าหนี้แล้ว ยืนยันเครื่องไม่ถูกยึด “จักรกฤศฏิ์” ขอพนักงาน 2 หมื่นคน ยอมเซ็นลดเงินเดือน แต่หากไม่เซ็นก็ไม่สามารถลดเงินเดือนพนักงานได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้เปิดการประชุมออนไลน์ให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนผู้บริหาร, ที่ปรึกษาการเงิน, ที่ปรึกษากฎหมาย เป็นผู้เปิดเผยข้อมูล โดยนางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง การบินไทย กล่าวถึงกำหนดเวลาการฟื้นฟูกิจการ ว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถก่อหนี้หรือชำระหนี้ได้

สำหรับกรอบเวลาฟื้นฟูฯ ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ศาลได้นัดไต่สวนคำร้อง คาดว่าเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูฯ และกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ผู้จัดทำแผนต้องทำแผนให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อส่งแผนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) เดือน ม.ค.2564 จากนั้นเดือน ก.พ.-มี.ค.2564 จพท.จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เดือน เม.ย.2564 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูฯ และตั้งผู้บริหารแผน จากนั้นจึงเริ่มทำแผนฟื้นฟูฯต่อไป และต้องให้แล้วเสร็จใน 5 ปี โดยขอขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

“การบินไทยได้เสนอแต่งตั้งผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ประกอบด้วย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร”

ขณะที่แนวทางฟื้นฟูฯมี 5 ช่องทาง คือ

1.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจรจาหนี้เพื่อขอขยายเวลาชำระหนี้ ลดเงินต้น ดอกเบี้ยลงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือพักชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด รวมถึงเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้น ฯลฯ

2.ปรับปรุงเส้นทางการบินและฝูงบิน โดยยกเลิกเส้นทางที่ไม่สร้างกำไร หรือมีกำไรต่ำ

3.ปรับปรุงหน่วยธุรกิจ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวเช่น จัดตั้งบริษัทย่อย และจัดหาพันธมิตรมาร่วมทุน มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อทำกำไร

4.ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านพาณิชย์และการหารายได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ เช่น ขยายช่องทางการจำหน่ายบัตรโดยสารให้หลากหลาย ปรับปรุงค่าตอบแทนของตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสม

5.ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ลดงานที่ซ้ำซ้อนไม่จำเป็น, เพิ่มศักยภาพการทำงานแต่ละหน่วยธุรกิจให้เชื่อมโยงกัน, ปรับลดพนักงานและผลตอบแทนเพื่อบริหารต้นทุนให้เหมาะสม ฯลฯ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสวัสดิการของพนักงานเปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคม

นายกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ที่ปรึกษากฎหมายการบินไทย ได้ตอบคำถามว่าเครื่องบินจะถูกยึดหรือไม่และเหตุใดจึงไม่ยื่นเข้ากฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ Chaper 11 เพื่อขอรับความคุ้มครองทั่วโลก ว่า ได้เจรจากับเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินแล้วหลายเจ้า เจ้าหนี้ได้ผ่อนผันให้ใช้เครื่องบินไปก่อน จะไม่ยึดเครื่องที่บินไปต่างประเทศ ส่วนการยื่น Chaper 11 ของสหรัฐฯ เป็นทางออกสุดท้าย

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงิน การบินไทย ระบุว่า ระหว่างฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลังไม่สามารถให้กู้ได้โดยตรง หรือค้ำประกันเงินกู้ได้ ส่วนแหล่งเงินทุนในอนาคตขึ้นกับแผน ทั้งจากการเพิ่มทุน แปลงหนี้เป็นทุน ฯลฯ ขณะที่การขอเงินคืนจากบัตรโดยสารที่จ่ายไปแล้ว ขณะนี้ไม่สามารถคืนให้ได้

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือพนักงาน 20,000 คน ปรับลดเงินเดือนของตัวเอง คาดว่าทุกคนจะเซ็นเอกสารปรับลดเงินเดือน แต่ถ้าหากคนใดไม่ยอมเซ็น ก็ไปบังคับไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเดือนเต็มเหมือนเดิม

cr. ไทยรัฐ


แชร์ข่าวนี้