หน้าแรก เศรษฐกิจ รัฐบาลเตรียมอัดมาตรการชุด 3 หวังเยียวยา-ดูแลเศรษฐกิจพ้นภัยโควิด-19

รัฐบาลเตรียมอัดมาตรการชุด 3 หวังเยียวยา-ดูแลเศรษฐกิจพ้นภัยโควิด-19

462
แชร์ข่าวนี้

“สมคิด” ควง “อุตตม-วิรไท-รื่นวดี” พบนายกรัฐมนตรี ชงออกมาตรการชุดที่ 3 เน้นเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจไทย โดยใช้ทั้งเงินงบประมาณและออก พ.ร.ก.เงินกู้ ย้ำทุกกระทรวงต้องตัดงบ 10% มาไว้ในงบกลาง ให้นายกฯใช้สู้โควิด-19 พร้อมยันไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนำนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า รายงานว่าเตรียมมาตรการชุด 3 ซึ่งเป็นมาตรการชุดใหญ่ที่จะช่วยเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19

“ผมใช้ชื่อว่า เยียวยาและดูแล ไม่ใช้คำว่า กระตุ้น เพราะมาตรการนี้ด้านหนึ่งต้องการเยียวยาผู้เดือดร้อน ส่วนอีกด้านดูแลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศหลังจากผู้คนกลับบ้าน และส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ฉะนั้นจะมีมาตรการสร้างงาน สร้างผลผลิต สร้างรายได้ในท้องถิ่น ซึ่งจะกระจายสู่จังหวัด ตำบล หมู่บ้าน ส่วนต่อมาต้องดูแลเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนของประเทศ เพราะ 2 ส่วนนี้ถึงกันและกัน”

สำหรับมาตรการใหม่นี้จะใช้เงินจากงบประมาณและเงินกู้ โดยจะตัดงบประมาณรายจ่ายปี 63 ของทุกกระทรวง 10% มาไว้ในงบกลาง เพื่อให้นายกรัฐมนตรีใช้แก้ปัญหาโควิด-19 อีกส่วนจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน เพื่อดูแลทั้งระบบ ให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง ให้ตลาดเงินตลาดทุนมีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงทั้งระบบได้ สำหรับการตัดงบ 10% ของแต่ละกระทรวง ไม่มีปัญหาแน่นอน สำนักงบประมาณ แจ้งว่าจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณ แต่ฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาว่าจะออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องการความรวดเร็วในการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไทยไม่ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตามที่มีกระแสข่าว เพราะสถานการณ์ขณะนี้ต่างจากปี 40 มาก ขณะนั้นไทยไม่มีเงินสำรองระหว่างประเทศ แต่ขณะนี้ เงินสำรองสูงถึง 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินไม่ได้ไหลออกนอกประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสูง ดอกเบี้ยต่ำมาก ไทยดูแลตัวเองได้สบาย หากจำเป็นต้องกู้เงินก็สามารถกู้ในประเทศได้ คนที่ให้ข่าวอย่างไม่ระมัดระวังถือว่าผิดกฎหมาย เรื่องนี้เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขอความกรุณาอย่าพูดเรื่องที่ไม่เป็นความจริงในช่วงเวลาแบบนี้

ด้านนายอุตตมกล่าวว่า มาตรการชุดที่ 3 คาดจะใช้งบดำเนินการมากกว่ามาตรการชุดที่ 1 และ 2 รวมกัน สำหรับรายละเอียด กระทรวง อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับ ธปท. และ ก.ล.ต. “แหล่งเงินที่จะนำมาใช้มีแน่นอน และไม่กู้จากไอเอ็มเอฟ เพราะรัฐบาลมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่ถังแตก ส่วนงบกลาง 96,000 ล้านบาท ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีนั้น กำหนดรายจ่ายไว้แล้ว ดังนั้นมาตรการชุด 3 จึงเป็นหน้าที่ของคลังที่จะพิจารณาว่าจะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินหรือไม่ ขณะที่สำนักงบประมาณ กำลังหาทางช่วยในการออก พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 บางส่วนมาเป็นงบกลาง”

ส่วนการรักษาวินัยการเงินการคลังที่กำหนดว่ากระทรวงจะก่อหนี้ไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นั้น ณ วันที่ 30 เม.ย.62 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 6.98 ล้านล้านบาท หรือ 42.07% ยังมีช่องว่างให้รัฐบาลก่อหนี้ได้อีก


แชร์ข่าวนี้